
เมื่อวันที่ 19 ถึง 20 สิงหาคม พ.ศ.2558 ผมได้มีโอกาสได้ไปร่วมงานอบรมถ่ายภาพดี ๆ งานหนึ่งที่จัดขึ้นโดย สมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของงานนิทรรศการ “เสน่ห์แดนใต้ ภาพถ่ายวัฒนธรรม” ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยได้รับเชิญศิลปินแห่งชาติ ผู้ชำนาญการด้านถ่ายภาพ มาเป็นวิทยากร ได้แก่
๑. นายยรรยง โอฬาระชิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2550 (ศิลปะภาพถ่าย)
๒. นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2552 (ศิลปะภาพถ่าย)
๓. นายเกรียงไกร ไวยกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพ
๔. นางวรรณี ชัชวาลทิพากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพ

โดยหัวข้อบรรยายในงานนี้จะมีเรื่อง “มุมมองและทิศทางของแสง” และ “ศิลปะภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอล” รวมถึงมีกิจกรรม Workshop ให้ผู้อบรมได้ลงมือถ่ายภาพพร้อมได้รับคำแนะนำจากวิทยากรอย่างใกล้ชิดที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร แล้ววิทยากรได้ให้การบ้านกับผู้อบรม นำภาพที่ได้จากการ Workshop ไปตกแต่งแล้วนำมา Print อีกครั้งในวันถัดไป ซึ่งมีการวิจารณ์ผลงานภาพถ่ายของผู้อบรมทุกท่านโดยวิทยากร และมีการมอบรางวัลภาพถ่ายที่สวยถูกใจจากวิทยากร รวมถึงคะแนน Popula Vote จากสมาชิกที่เข้าอบรมกันเองอีกด้วย

สำหรับตัวผมเองนั้นจะชอบถ่ายภาพอากาศยานเป็นที่สุด พอได้มาลองเปิดมุมมองใหม่ ๆ กับเหล่าวิทยากรแต่ละท่าน ซึ่งมีประสบการณ์ถ่ายภาพศิลปะมาอย่างยาวนาน ก็ได้รับแนวคิดอะไรดี ๆ ที่จะนำมาใช้พัฒนาตัวเองได้ ซึ่งผมขอกล่าวถึงแต่ละท่านดังนี้ครับ

– อาจารย์ยรรยง โอฬาระชิน ผลงานที่โดดเด่นของท่านคือภาพถ่ายขาวดำ ท่านจะให้ความสำคัญกับแสงเงาเป็นอย่างมาก และท่านก็ได้นำผลงานของท่านทั้งภาพถ่ายขาวดำ ภาพถ่ายสี มาให้ชมและเล่าที่มาที่ไปของแต่ละภาพว่าได้มาได้อย่างไร สำหรับผมแล้ว งานภาพขาวดำเป็นอะไรที่ไกลตัวผมเหลือเกิน ผมจึงยังเข้าไปไม่ถึงเท่าไร แต่ผมก็รับรู้นะครับว่า ผลงานภาพถ่ายของท่านนั้นไม่ธรรมดาจริง ๆ ที่ทำให้ภาพขาวดำนั้น สวย ดูมีอารมณ์ ได้อย่างดี

– อาจารย์เกรียงไกร ไวยกิจ ท่านได้เล่าประสบการณ์การได้ไปถ่ายภาพที่เกาะยาวน้อยมาให้ได้ฟัง โดยสิ่งที่อาจารย์บอกแล้วผมชอบและอยากนำมาใช้ให้ได้คือ ท่านแนะนำให้อยู่ในแต่ละที่ให้นานกว่าเดิม แล้วไปที่เดิม ๆ ทุกวัน เพราะแต่ละวัน ที่เดิม ๆ จะมีอะไรแตกต่างไม่ซ้ำกัน วันนี้เราถ่ายภาพตรงนี้สวยแล้ว ไม่แน่วันพรุ่งนี้อาจสวยกว่าเดิม เพราะอาจมีอะไรที่ทำให้องค์ประกอบภาพเปลี่ยนไป ท่านได้เล่าเรื่องราวสมัยที่ท่านเปลี่ยนจากใช้กล้องฟิล์ม มาใช้กล้องดิจิตอล ด้วยว่า เพราะเทคโนโลยีทำให้อะไร ๆ มันง่าย สะดวกกว่าเดิม แต่ต้องฝึกให้เป็นนิสัยว่าแต่ละครั้งที่จะกดถ่าย ให้คิดให้ดี ๆ เพราะสิ่งได้ออกมามันคือผลงานศิลปะ

– อาจารย์วรนันทน์ และ อาจารย์วรรณี ชัชวาลทิพากร ท่านได้นำผลงานภาพถ่ายของท่านทั้งสองมาให้ดู ได้เล่าประสบการณ์จากการได้ไปลงพื้นที่ถ่ายภาพในภาคใต้ การได้ทำงานร่วมกันกับช่างภาพมืออาชีพจากต่างประเทศ ว่าต้องทำงานกันอย่างไร ติดต่อกันอย่างไร มีสัญญาอะไรกันบ้าง ท่านเล่าเบื้องหลังของแต่ละภาพที่ท่านแสดงออกมาได้อย่างสนุกสนาน บางภาพ เป็นเพียงแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้นที่ถ่ายได้ บางภาพ ท่านจัดฉากอย่างไร ให้ภาพออกมาดูดี โดยท่านได้ให้ความสำคัญกับการการวัดแสง การจัดองค์ประกอบภาพ ที่เป็นพื้นฐานแต่สำคัญที่สุด ซึ่งตัวผมเองก็ยังไม่เก่งเรื่องนี้เท่าที่ควร ก็ได้เรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้น ท่านได้สอนให้ผู้อบรมรู้จักอุปกรณ์ของตัวเองให้มาก ใช้ลูกเล่นของกล้องให้เป็นประโยชน์ ท่านได้นำภาพถ่ายที่ใช้ Picture Style แบบ NIR (Near Infrared) ออกมาให้ดู ซึ่งผมชอบมาก มันสวยและแปลกตาดี จนผมต้องหามาลองเล่นดู และอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านลองหามาใช้ดูครับ


หลังจากจบงานนี้แล้ว สิ่งที่ผมได้รับจากการอบรมในครั้งนี้คือ การได้พบเจออะไรใหม่ ๆ ในโลกของการถ่ายภาพ ในสถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน เราสามารถจะสร้างผลงานศิลปะภาพถ่ายออกมาได้หลากหลายได้ ปัจจัยที่ทำให้ต่างกันก็เป็นเรื่องมุมมองของภาพ การวางองค์ประกอบภาพ การใช้ลูกเล่นของกล้อง การจัดฉาก และอื่น ๆ ตามแต่จินตนาการของผู้ถ่าย ซึ่งหลังจากลั่นชัตเตอร์ออกไปแล้ว มันจะเป็นผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งขึ้นมาครับ





หากครั้งต่อไปมีงานอะไรที่น่าสนใจอีก ผมจะหาโอกาสไปแล้วจะมาเขียนเล่าประสบการณ์ให้ได้อ่านกันอีกนะครับ โปรดติดตามผลงานของผมที่ http://www.pocket.in.th ได้เลยครับ
สวัสดีครับ